(คลิป)ลูกชาย “ช่างทองร่วง” ศิลปินแห่งชาติ บอกใจหายและเสียดาย ปูนปั้นผลงานพ่อถูกทุบทิ้งเอาพื้นที่ไปทำร้านกาแฟ

เพชรบุรี – เปิดใจลูกชายช่างทองร่วง ศิลปินแห่งชาติ รู้สึกใจหายและเสียดาย ปูนปั้นผลงานพ่อที่วัดมหาธาตุ เมืองเพชร ถูกทุบทำลาย เพื่อทำร้านกาแฟ โดยทางวัดไม่บอกกล่าว  

จากกรณีนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักวิชาการนักเขียนชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่าน FACEBOOK ส่วนตัวชื่อว่า นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว เป็นภาพศิลปะปูนปั้นภูมิปัญญาของชาวเมืองเพชรบุรี พร้อมระบุข้อความว่า พ่อล้อม เพ็งแก้ว ตายไม่ถึง 2 เดือน ช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ ตายไม่ถึง 1 ปี ได้มีการทุบงานปูนปั้นการเมืองของครูทองร่วงทิ้งไปแล้ว ที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองเพชรบุรี เพราะวัดมหาธาตุจะใช้พื้นที่ทำร้านกาแฟ หมดพ่อล้อม หมดครูทองร่วง ต่อจากนี้ ใครเล่าจะปกป้องรักษางานปูนปั้นศิลปะการเมือง ของเมืองเพชรบุรีเอาไว้ได้ด้าน ผศ.แสนประเสริฐ ปานเนียม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีความเชี่ยวชาญและสนใจในประเด็น คติชน, วรรณกรรมท้องถิ่น, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, ประวัติศาสตร์ศิลปะ ระบุว่า พื้นที่และชิ้นงานเป็นทรัพย์สินของวัด วัดมีอำนาจในการบริหารจัดการได้ แต่ในความเห็นผม คิดว่ามีวิธีการในการบริหารจัดการได้ดีกว่าการทุบ เช่น ตัดเฉพาะส่วนงานปูนปั้นออกไปเก็บรักษาไว้ เพื่อจัดแสดงหรือนำมาประกอบกับแท่นฐาน แล้วจัดแสดงในลักษณะประติมากรรมการแจ้ง ประดับสถานที่และให้ความรู้ทางธรรมแก่ผู้มาชมในอนาคตก็ได้ ทั้งยังเป็นการรักษางานของศิลปินแห่งชาติด้วย

ขณะที่ พระวชิรวาที เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ จังหวัดเพชรบุรี โพสต์ข้อความระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลงสิ่งสำคัญ คือ “การปรับตัว”คนที่ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ทุกๆวันของคุณจะกลายเป็น “โอกาส” โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลายโอกาส เป็นสิ่งที่ไม่เคยรอเราถ้ามาแล้วไม่รีบคว้าเอาไว้ จะกลายเป็นอากาศและยากที่จะพบกับช่วงเวลาอันควร หรือโอกาสอีกสักครั้ง

ล่าสุด  นายพรนิมิตร เอมโอษฐ์ ลูกชายของ นายทองร่วง เอมโอษฐ์ ช่างปูนปั่น ศิลปินแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยว่า ตนเพิ่งทราบข่าวว่าทางวัดได้ดำเนินการรื้อถอนห้องสุขาดังกล่าวออกไป เพื่อดำเนินการปรับพื้นที่จัดเตรียมการสร้างร้านกาแฟของทางวัด ซึ่งทางวัดไม่ได้มีการติดต่อประสานแจ้งมาทางครอบครัวเลย ตนรู้สึกใจหายและเสียดายศิลปะที่คุณพ่อได้สร้างไว้ให้เยาวชนและคนรุ่นหลังได้ชม ความจริงทางวัดน่าจะช่วยอนุรักษ์เอาไว้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *