อายัดทรัพย์ ทนายตั้มกับพวก286 ล. ฐานฉ้อโกง-ฟอกเงิน

ปปง. แถลงผลยึดอายัดทรัพย์ ‘ทนายตั้ม’ กัย พวก ฐานฉ้อโกงปกติธุระ-ฟอกเงิน เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง-เงินในบัญชี รวม 71 ล้าน ส่วน ‘ดิไอคอน’ ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 286 ล. ส่วน ‘หุ้น STARK’ ส่งเรื่องให้อัยการเพื่อยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปชดใช้คืนผู้เสียหาย

วันที่ 16 ธ.ค.67 นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. และนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย โฆษกประจำสำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 15/2567 พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สรุปผลการดำเนินการที่น่าสนใจดังนี้

ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 12 รายคดี ทรัพย์สินกว่า 234 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 836 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินในคดีสำคัญเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น

รายคดี นายษิทราฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีเหตุที่อันควรเชื่อได้ว่า มีการโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 3 รายการ เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมมูลค่าประมาณ 71 ล้านบาท

รายคดี น.ส.สุรีวรรณฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และการฉ้อโกง อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์มีพฤติการณ์โอนและรับโอนเงินเชื่อมโยงกับความผิดมูลฐานในคดีอื่นหลายคดี และเป็นเครือข่ายการฟอกเงินรายสำคัญ มีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 125 รายการ ซึ่งเป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมมูลค่าประมาณ 505 ล้านบาท

รายคดี น.ส.เจียน กับพวก (สัญชาติจีน) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานฟอกเงิน คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว 59 รายการ มูลค่าประมาณ 27 ล้านบาท (ย.168/2567) และจากการสืบสวนขยายผลพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) จำนวน 7 รายการ (ห้องชุด และบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 78 ล้านบาท

รายคดี น.ส.เดือนนภา กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และความผิดฐานฟอกเงิน คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้วรวม 118 รายการ มูลค่าประมาณ 574 ล้านบาท (ย.254/2566 ,ย.94/2567) และจากการสืบสวนขยายผลพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวน 4 รายการ (ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง) รวมมูลค่าประมาณ 95 ล้านบาท

รายคดี นายภานุวัชร กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 22 รายการ (ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 81 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ซึ่งถูกยึดอายัดทรัพย์สินหรือผู้มีส่วนได้เสียในกรณีต่างๆ สามารถยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการ ปปง. พร้อมพยานหลักฐานที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกดำเนินการนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือ

2.ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 6 รายคดี ทรัพย์สินกว่า 119 รายการ มูลค่าประมาณ 287 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด และมีความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน

คดีสำคัญ ได้แก่ รายคดี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามคำสั่งที่ ย.214/2567 , ย. 222/2567 , ย.223/2567ย.224/2567 และ ย.225/2567 รวมจำนวน 103 รายการ มูลค่าประมาณ 286 ล้านบาท และมีมติให้เพิกถอนการยึดอายัดทรัพย์สิน จำนวน 40 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 29 ล้านบาท

เนื่องจากผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงหลักฐานว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกดำเนินการไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย สำนักงาน ปปง. ได้ประกาศกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ครบกำหนดวันที่17 กุมภาพันธ์ 2568) จากนั้น สำนักงาน ปปง. จะตรวจสอบ และรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายและจำนวนความเสียหายเพื่อพิจารณาก่อนส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนให้กับผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหาย แทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป

อนึ่ง การส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องของให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการกับทรัพย์สินในคดีนี้ ทั้งนี้ หากสำนักงาน ปปง. มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีนี้เพิ่มเติมจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป

3. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือ ชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 9 รายคดี ทรัพย์สิน 468 รายการ มูลค่าประมาณ 3,428 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ

รายคดี น.ส.รัชญา กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (กรณีคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) ซึ่งเป็นการดำเนินการกับทรัพย์สิน จำนวน 303 รายการ(เช่น ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ เงินสด สินค้าแบรนด์เนม และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 70 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 142/2567)

รายคดี นายชนินทร์ กับพวก (กรณีหุ้น STARK) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และการยักยอกฯ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งการดำเนินการกับทรัพย์สินในกรณีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง โดยสำนักงาน ปปง. รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ เสร็จสิ้นแล้ว ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายกว่า 3,900 ราย) ซึ่งเป็นการดำเนินการกับทรัพย์สิน จำนวน 50 รายการ (เช่น ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 3,244 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 222/2566 และ ย. 32/67)

เปิดประวัติ 'ทนายตั้ม' จากทนายประชาชนสู่คดีร้อนแห่งปี

เผย! ราคาป้ายทะเบียนรถ PORSCHE Cayenne ของ "ทนายตั้ม" พบขายอยู่ที่ 3.5 ล้านบาท | สยามคาร์ - Siamcar | LINE TODAY